อาการ มือเท้าชา 2567 หรือ อาการชา เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่ปลายมือ ปลายเท้า บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ จี๊ดๆ หรือ มีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ที่ปลายมือปลายเท้า หรือบริเวณอื่น บางทีเป็นๆหายๆ หรือ อาจเป็นนาน
อาการมือเท้าชา
“ชาตามปลายมือปลายเท้า” หลายคนเคยเกิดอาการนี้ บางคนมีอาการเพียงชั่วครู่ บางคนมีอาการนานกว่านี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ทำให้เกิดความรำคาญได้ ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขอาการ ก่อนที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมา
อาการชาเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาท รับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด
ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็น ทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย50% โดยถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้าๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน
อาการมือเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง หรืออาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เบาหวาน ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก หลอดเลือดสมอง เป็นต้น
นอกจากนี้การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุของความเสียหายของเส้นประสาทได้เช่นกัน โดยเฉพาะการขาดวิตามินB ต่างๆ เพราะวิตามิน B เหล่านั้นมีความจำเป็นต่อเส้นประสาทที่มีสภาพสมบูรณ์ หากรู้สึกเหน็บชาหรือมีอาการปวดเสียวบริเวณมือหรือเท้า นั่นอาจแสดงว่าเส้นประสาทได้รับการบำรุงไม่เพียงพอ
สาเหตุของอาการมือเท้าชา
1. อาการชาที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง
คือ สมองหรือไขสันหลัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยตำแหน่งของอาการชามักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ทรงตัวลำบาก โดยอาการมักเป็นฉับพลันทันที
2. อาการชาที่เกิดจากระบบเส้นประสาทส่วนปลาย
ภาวะรากประสาทถูกกดทับ จากกระดูกต้นคอเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน
ภาวะการกดทับของเส้นประสาทในแขนขา โดยมักพบในตำแหน่งที่เส้นประสาทอยู่ตื้น และสัมพันธ์กับการนั่งหรือทำท่าเดิมนานๆ ทำท่าทางใดๆ ซ้ำๆ หรือมากเกินไป เช่น การนั่งไขว้ขา การใช้มือทำงานคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ใช้มือและนิ้วเล่นโทรศัพท์นานๆ
การบาดเจ็บที่เส้นประสาทโดยตรง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกรบกวนด้วย โดยมักจะมีอาการชาแบบสูญเสียความรู้สึกและอ่อนแรงร่วมด้วย
โรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้เส้นประสาทหรือปลอกประสาทส่วนปลายเสื่อม เช่น Charcot Marie Tooth Syndrome
โดยผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวมีอาการเกี่ยวกับปลายประสาท
ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ มักมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสงูสวัด ซิฟิลิส เฮชไอวี
โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
โรคไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคตับ
การได้รับยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เช่น ยาฆ่าเชื้อได้แก่ Metronidazole, Ethambutol, Amiodarone, Colchicine เป็นต้น
3. อาการชาที่เกิดจากโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย
การอุดตันของหลอดเลือดแดง ทำให้การไหลเวียนเลือดแดงเพื่อนำเลือดดีมาเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนปลายลดลง
การอุดตันของหลอดเลือดดำ ทำให้การนำกลับของเลือดและของเสียลำเลียงออกไม่ได้ มีความดันในแขน ขา สูงขึ้น
และรบกวนการนำเข้าของเลือดแดงมาเลี้ยง ซึ่งส่งผลต่อเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในที่สุด
4. โรคข้ออักเสบ
อาการอักเสบของข้อ ส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงกับข้อ ทำให้มีอาการชาร่วมด้วยได้
5. โรคกล้ามเนื้อ
เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทหรือการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาท อาจพบอาการชาร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว
การป้องกัน และ บรรเทาอาการมือเท้าชา
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสหวาน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน
- หลีกเลี่ยง การทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เส้นประสาทถูกกดทับ เช่น นั่งท่าเดียวนานๆ และ การยกของหนัก เป็นต้น
- ทานอาหารที่มีวิตามินบี เป็นส่วนประกอบ หรือ เลือกดื่ม ยันฮี วิตามิน วอเตอร์
- ดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกล จากโรคที่เป็นสาเหตุ
อาการชาแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์
อาการชาที่เกิดร่วมกับอาการปวด มักทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและบรรเทาอาการอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แต่อาการชาที่มีลักษณะร่วมอื่นๆ ที่ควรรีบมาพบแพทย์
เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ทำการรักษา และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- อาการชาที่มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย
- อาการชาที่มีอาการผิดรูปหรือมีแผลร่วมด้วย
- อาการชาร่วมกับมือเท้าร้อนหรือเย็นผิดปกติ
- อาการชาที่มีลักษณะรับความรู้สึกของตำแหน่งไม่ได้ เสียการทรงตัว
- อาการชาที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีอาการในตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน
อาการชาอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ หากผู้ป่วยที่มีอาการชามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ นอกจากจะรักษาอาการชาเพื่อลดการรบกวนของผู้ป่วยแล้ว แต่ยังสามารถนำไปสู่การค้นหาโรคที่เป็นสาเหตุร่วม รวมถึงให้การวินิจฉัยก่อนเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้นๆ ได้
ในกรณีที่มีอาการชา โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์